ข้ามไปเนื้อหา

มาร์เชียลอาร์ตสเกมส์ 2009

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1
เมืองเจ้าภาพกรุงเทพมหานคร ไทย
คำขวัญเกมแห่งน้ำใจ ในดินแดนแห่งรอยยิ้ม
ประเทศเข้าร่วม45
นักกีฬาเข้าร่วมประมาณ 1,500 คน
กีฬา9 ชนิด
พิธีเปิด1 สิงหาคม พ.ศ. 2552
พิธีปิด9 สิงหาคม พ.ศ. 2552
ประธานพิธีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พิธีเปิด)
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ (พิธีปิด)
นักกีฬาปฏิญาณปฏิวัติ ทองสลับ
ผู้ตัดสินปฏิญาณจตุพร เหมวรรณโณ
ผู้จุดคบเพลิงจา พนม (นายทัชชกร ยีรัมย์)
สนามกีฬาหลักอินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก,

ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง,
กรีฑาสถานแห่งชาติ สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร,
อาคารศิลปอาชา สนามกีฬากลางจังหวัดสุพรรณบุรี,

อาคารเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร โรงเรียนกีฬา จังหวัดสุพรรณบุรี

การแข่งขันกีฬาศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแห่งเอเชีย ครั้งที่ 1 หรือ เอเชียมาร์เชียลอาตส์เกมส์ 2009 เป็นการแข่งขัน เอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552 โดยมีประเทศเข้าร่วมแข่งขัน 40 ประเทศ และมีกีฬาแข่งขันทั้งหมด 9 ชนิด

ประวัติ

[แก้]

ประเทศไทยได้รับเกียรติจากสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียน มาเชี่ยลอาร์ต ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการได้รับเกียรติอย่างสูง เพราะนานาประเทศ ได้ยกย่องว่าประเทศไทยมีศักยภาพ มีบุคลากร มีผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และเป็นสถานที่ศูนย์กลางของการริเริ่ม สร้างสรรค์เกมกีฬาใหม่ขึ้นในโลก อย่างมีประสิทธิภาพและ ประสิทธิผล ในการนี้สำนักเลขาธิการในคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียน มาเชี่ยลอาร์ต ครั้งที่ 1 จึงได้ดำเนินการ ออกแบบตราสัญลักษณ์การแข่งขัน, สัตว์นำโชค, คำขวัญ, สัญลักษณ์ชนิดกีฬา และอัตตลักษณ์ เพื่อนำไปใช้ในเกมส์ การแข่งขันดังกล่าว

รับพระราชทานไฟพระฤกษ์

[แก้]

วันที่ 29 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ออกแทนพระองค์ ณ วังศุโขทัย พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 1 คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานไฟพระฤกษ์จัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 1 และในการนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าปังกรรัศมีโชติ โดยเสด็จด้วย

พิธีเปิด - ปิดการแข่งขัน

[แก้]

พิธีเปิด

[แก้]

พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 18.00 น. ณ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ เป็นองค์ประธานในพิธี พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ

หลังจากนักกีฬาจากทุกประเทศเดินพาเหรดเข้าสู่สนามแล้ว ได้มีการเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสา จากนั้นพิธีกรกล่าวเรียนเชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 นายธิโมธี ซุน ถิง ฟ๊อค รองประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย โซนเอเชียตะวันออก นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 และพลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เพื่อถวายรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 และขอพระราชทานพระราชดำรัสเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำรัสเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552 ว่า

ขอต้อนรับนักกีฬาและผู้แทนนานาชาติ ซึ่งมาร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพมหานคร ด้วยความยินดี. ขอให้การแข่งขันกีฬาอันเป็นนิมิตรหมายแห่งความสมัครสมานสามัคคีระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียนี้ ดำเนินลุล่วงไปด้วยดีตามกฎระเบียบของการแข่งขันและน้ำใจของนักกีฬา เพื่อให้การกีฬาบรรลุผลตามอุดมการณ์ที่มุ่งหมาย และเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าขอเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 ณ บัดนี้.

หลังจากพระราชทานพระราชดำรัสเปิดการแข่งขันแล้ว เป็นการเชิญธงสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย และธงสัญลักษณ์การแข่งขันขึ้นสู่ยอดเสา และพิธีกล่าวคำปฏิญาณของตัวแทนนักกีฬาและกรรมการผู้ตัดสิน โดยผู้เชิญธงสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียในการปฏิญาณ คือ ร้อยโท สมจิตร จงจอหอ นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นเหรียญทองโอลิมปิก ตัวแทนนักกีฬา คือ นายปฏิวัติ ทองสลับ นักกีฬาเทควันโดเหรียญทองแดงกีฬามหาวิทยาลัยโลก และตัวแทนกรรมการผู้ตัดสิน คือ นางสาวจตุพร เหมวรรณโณ ผู้ตัดสินดีเด่นโลก ประจำปี 2009 จากสมาพันธ์เทควันโดโลก

พิธีเปิดมีการแสดง 3 ชุด คือ ชุดที่ 1 เกมของน้ำใจ (The Games Of Spirit) ชุดที่ 2 ดินแดนแห่งรอยยิ้ม (The Land Of Smile) และชุดที่ 3 เปลวไฟแห่งศิลปะการต่อสู้ (The Flame Of Martial Arts) โดยมี จา พนม , แอ๊ด คาราบาว และ แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ ร่วมแสดง โดยมีการซ้อมใหญ่พิธีเปิด ในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เวลา 18.00 น.[1]

สำหรับผู้นำคบเพลิงวิ่งเข้าสู่สนาม คือ “น้องปุ้ย” ญาณิศา ต่อรัตนวัฒนา นักกีฬาคาราเต้-โด ซึ่งรับหน้าที่แทน “น้องสอง” บุตรี เผือดผ่อง นักกีฬาเทควันโด ซึ่งเป็นผู้ที่เลือกไว้ในตอนแรก แต่เนื่องจาก น้องสอง มีโปรแกรมแข่งเทควันโด รุ่น ฟินเวทหญิง (47 กก.) วันที่ 2 สิงหาคม และต้องชั่งน้ำหนักตัวในช่วงเย็นของวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งตรงกับช่วงเวลาเปิดการแข่งขันพอดี จึงไม่สามารถเข้าร่วมพิธีได้ ทำให้ฝ่ายจัดพิธีเปิด-ปิด ได้จัดให้ “น้องปุ้ย” ญาณิศา ต่อรัตนวัฒนา ทำหน้าที่แทน [2] โดยในพิธีจริง ญานิศาได้ส่งคบเพลิงต่อไปให้ ทัชชกร ยีรัมย์ (โทนี่ จา) นำไปทุบไฟใส่กระถางคบเพลิง ส่วนนักกีฬาที่ทำหน้าที่ถือธงชาติไทยนำขบวนพาเหรดนักกีฬาไทยเข้าสู่สนามก็คือ พันจ่าเอกบดินทร์ ปัญจบุตร นักกีฬายูยิตสู

พิธีปิด

[แก้]

พิธีปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 18.00 น. ณ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก โดยกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย มร ธิโมธี ซุน ถิง ฟ๊อค ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ดร. ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รองประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน) และ นายกนกพันธุ์ จุลเกษม ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (ประธานกรรมการกีฬาฝ่ายเทคนิค) ร่วมเป็นเกียรติในพิธี

พิธีปิดประกอบด้วยการแสดง 3 ชุด ชุดที่ 1 มีชื่อว่า เกมของศิลปะ ชุดที่ 2 ดินแดนแห่งจิตใจ และชุดที่ 3 เปลวไฟแห่งความตราตรึง

ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน

[แก้]

ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมทั้งสิ้น 40 ชาติ จากประเทศสมาชิก 45 ชาติ ในเบื้องต้น มี 5 ประเทศที่ไม่ได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน คือ อัฟกานิสถาน เกาหลีเหนือ ซาอุดีอาระเบีย ติมอร์-เลสเต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (แต่ภายหลังประเทศอัฟกานิสถานได้ขอเข้าร่วมแข่งขันด้วย) [3]

สัญลักษณ์

[แก้]

ตราสัญลักษณ์

[แก้]
  • ตัวอักษร A สื่อถึงทวีปเอเซีย อันประกอบด้วย ประชาชนและประเทศต่างๆ
  • ตัวอักษร M สื่อถึงกีฬามาร์เชียลอาร์ต
  • รูปทรงของตัวอักษรทั้งสองที่เกาะเกี่ยวกัน เป็นรูปทรงในลักษณะนามธรรมที่มีความทันสมัย กระฉับกระเฉง เรียบง่าย แสดงออกถึง แนวความคิดและปรัชญาของการรวมกันอย่างแข็งแกร่ง ของการแข่งขันกีฬามาร์เชียลอาร์ตในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์และจรรโลงไว้ซึ่งสันติภาพ มิตรภาพ เสมอภาค ของทุกประเทศในทวีปเอเซีย
  • ภาพโดยรวม เป็นผลลัพธ์ของการผสมผสานศิลปะแบบไทยกับศิลปะสมัยใหม่ สื่อถึงประเทศไทย ในฐานะประเทศเจ้าภาพและความเข้ากันได้กับยุคสมัย
  • สีแดง เป็นสีหลักของ OCA สีของการต่อสู้และสีของหัวใจ อีกทั้งยังเป็นสีหลักของศิลปะของเอเชีย
  • สีทอง สีแห่งความเรืองรองของราชอาณาจักรไทย และเป็นสีหลักของการแสดงคุณค่าของงานที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์การแข่งขันครั้งนี้ และเป็นสีหลักของศิลปะไทย

ตัวนำโชค

[แก้]
หนุมานยินดี

หนุมานยินดี (Hanuman Yindee)

  • หนุมาน คือทหารเอกของพระราม เป็นลิงซึ่งเป็นตัวละครเอก ในวรรณกรรมรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมร่วมของเอเชีย
  • หนุมาน เป็นลิงที่มีผิวกายขาวเผือกเป็นลักษณะเด่น มีความเชี่ยวชาญในศิลปะการต่อสู้ทุกชนิด มีความมุ่งมั่นพยายามอย่างสูงในการกระทำสิ่งใดให้สำเร็จ
  • หนุมาน คือภาพลักษณ์หนึ่งของความเป็นไทย ซึ่งจะพบเห็น ในการแสดงโขน การแสดงหุ่นละครเล็ก ซึ่งใช้ในการแสดง ต้อนรับแขกผู้มาเยือน
  • หนุมานในท่ามอบดอกไม้ ซึ่งเป็นพวงมาลัยแห่งน้ำใจไมตรี อันเป็นสัญลักษณ์ ของคนไทย จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการต้อนรับด้วยมิตรภาพสู่การแข่งขันที่เต็มไปด้วยศิลปะ การต่อสู้และจะนำไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาชาติชาวเอเชีย
  • หนุมาน สัตว์นำโชคในครั้งนี้ จึงมีชื่อว่า “ยินดี”
  • หนุมาน “ยินดี”

o ยินดี ที่ได้เกิดการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ เป็นครั้งแรก และจะก้าวไปสู่การแข่งขันอันไม่มีที่สิ้นสุด o ยินดี ที่ได้ต้อนรับมิตรประเทศ และผู้มาเยือนสู่ประเทศไทย o ยินดี ในความสำเร็จ และชัยชนะ รวมทั้งความมีน้ำใจนักกีฬาที่มีให้กัน o ยินดี ที่ได้รู้จักทุก ๆ คน ที่มาร่วมสร้างมิตรภาพ และเอกภาพ ของประชาชาติชาวเอเชีย

กีฬา

[แก้]

การเลื่อนการแข่งขัน

[แก้]

แต่เดิมนั้นการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 แต่เนื่องจากปัญหาทางการเมืองในประเทศไทย คือ เกิดเหตุการณ์ประท้วงขั้นรุนแรงของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี บางอำเภอของปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐมและพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 12 เมษายน ซึ่งต่อมายกเลิกในวันที่ 24 เมษายน ก่อนการแข่งขันเพียงหนึ่งวัน

ในวันที่ 13 เมษายน นายชุมพล ศิลปอาชา ได้ร่วมหารือกับทางคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ นำโดย พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคฯ และ พล.อ. บัญชา มรินทร์พงษ์ หัวหน้าสำนักงานโอลิมปิคฯ พร้อมด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และได้ข้อสรุปให้มีการเลื่อนการแข่งขันออกไปจากเดิมไปอีกประมาณ 1 เดือน จากวันที่ 25 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ไปเป็นวันที่ 6 มิถุนายน - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักกีฬาที่จะมาเข้าร่วมการแข่งขันเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ได้ส่งหนังสือแนะนำมายังคณะกรรมการโอลิมปิกไทย เสนอขอให้ไทยพิจารณาขยับวันแข่งขันให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 30 พฤษภาคม - 7 มิถุนายน เพราะช่วงวันที่ 6 - 14 มิถุนายน ใกล้กับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนยูธเกมส์ ครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ที่ประเทศสิงคโปร์มากเกินไป และสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียเห็นว่าตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมาพิธีเปิดการแข่งขันส่วนใหญ่จะจัดตรงกับวันเสาร์ ขณะที่พิธีปิดจะตรงกับวันอาทิตย์พอดี

ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ ครั้งที่ 1 จึงประชุมด่วนในวันที่ 23 เมษายน และสรุปให้จัดในวันที่ 12 พฤษภาคม - 20 พฤษภาคม

แต่ในวันต่อมา (24 เมษายน) จากการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ ที่มีนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน และมีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ เห็นควรให้เลื่อนยาวออกไปเป็นในระหว่างวันที่ 9 - 17 กรกฎาคม เนื่องจากในช่วงที่สภาโอลิมปิกแห่งเอเชียกำหนดมามีการแข่งขันกีฬาภายในประเทศไทยหลายรายการ ทำให้การเตรียมการของไทยไม่สะดวก โดยได้มอบให้คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ไปเจรจากับสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียอีกรอบ แต่ในที่สุด ทางไทยก็นำเสนอช่วงวันแข่งขันใหม่เป็น 11 - 19 กรกฎาคม ต่อสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียพิจารณาเห็นชอบ

สภาโอลิมปิกแห่งเอเชียยังคงเห็นว่าวันที่ไทยเสนอมานั้น ยังคงใกล้กับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนยูธเกมส์ ครั้งที่ 1 มากเกินไปและเริ่มไม่พอใจที่ทางไทยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแข่งขัน เพราะจะทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยและการแข่งขันกีฬาลดลงเรื่อยๆ พร้อมแนะนำให้เลื่อนวันแข่งขันไปอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมแต่ต้องไม่ถึงเดือนกันยายนเพราะต้องเว้นช่วงให้นักกีฬาเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันเอเชี่ยนอินดอร์เกมส์ ครั้งที่ 3 ที่ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 8 พฤศจิกายนด้วย

ในที่สุด จึงมีกำหนดการแข่งขันในวันที่ 1 - 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การยุบรวมกับเอเชียนอินดอร์เกมส์

[แก้]

ตามมติสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 เห็นควรให้ยุบรวมเอเชียนมาร์เชียลอาตส์เกมส์ เข้ากับเอเชียนอินดอร์เกมส์ และเปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็นเอเชียนอินดอร์-มาร์เชียลอาตส์เกมส์ โดยเริ่มครั้งแรกในการแข่งขันเอเชียนอินดอร์เกมส์ครั้งที่ 4 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ในปี พ.ศ. 2554

สรุปเหรียญรางวัล

[แก้]

  *  เจ้าภาพ (ไทย)

ลำดับที่ประเทศทองเงินทองแดงรวม
1 ไทย (THA)*21171654
2 คาซัคสถาน (KAZ)1571234
3 เกาหลีใต้ (KOR)106319
4 จีน (CHN)95519
5 ญี่ปุ่น (JPN)92314
6 เวียดนาม (VIE)7112139
7 อินโดนีเซีย (INA)56516
8 อุซเบกิสถาน (UZB)451221
9 จีนไทเป (TPE)451120
10 อินเดีย (IND)372333
11 ปากีสถาน (PAK)3249
12 ฟิลิปปินส์ (PHI)261018
13 อิรัก (IRQ)23510
14 มาเลเซีย (MAS)2338
15 จอร์แดน (JOR)22812
 อัฟกานิสถาน (AFG)22812
17 ซีเรีย (SYR)2136
18 ลาว (LAO)14914
19 มองโกเลีย (MGL)1337
20 บาห์เรน (BRN)1135
21 มาเก๊า (MAC)1124
 เติร์กเมนิสถาน (TKM)1124
 เลบานอน (LIB)1124
24 สิงคโปร์ (SIN)0235
 ฮ่องกง (HKG)0235
26 คูเวต (KUW)0145
27 บรูไน (BRU)0123
28 พม่า (MYA)0112
29 ศรีลังกา (SRI)0022
30 กาตาร์ (QAT)0011
 ภูฏาน (BHU)0011
 เนปาล (NEP)0011
รวม (32 ประเทศ)108108191407

ประเทศที่ไม่ได้เหรียญรางวัลมี 8 ประเทศ คือ กัมพูชา คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน ปาเลสไตน์ บังกลาเทศ มัลดีฟส์ เยเมน และโอมาน

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ""ศุภักษร"ซ้อมพิธีเปิด31ก.ค.นี้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-13. สืบค้นเมื่อ 2009-07-26.
  2. ""ปุ้ย"แทน"สอง" วิ่งไฟพระฤกษ์ มาร์เชี่ยลอาร์ท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-12. สืบค้นเมื่อ 2021-10-15.
  3. ""ยูเออีถอนแข่ง มาเชี่ยลอาร์ท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-12. สืบค้นเมื่อ 2021-10-15.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]